“ ภพ ”

“…จุด ๆเดียวโดยลำพังมันก็จะไม่มีความหมายอะไรมากมาย..สำหรับคนธรรมดาสามัญโดยทั่ว ๆไปอย่างเรา ๆท่าน ๆทั้งหลาย…แต่สำหรับท่านผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว..ท่านรู้ดีว่านี่คือจุดเริ่มต้นของความหมายของ “สมมติ” ….ยกตัวอย่างเช่น…ถ้ามีเส้นรังสีออกไปจากจุดนี้หนึ่งเส้น..ก็เรียก “เส้นตรง” แล้ว…ถ้าออกจากจุด ๆเดียวสองเส้น..ก็เรียก “มุม” แล้ว…แล้วถ้ายิ่งหลาย ๆ เส้น..ก็จะเป็นหลายมุมแล้ว..ยิ่งหลายมุมยิ่งหลายความหมาย ยิ่งหลากหลายความวุ่นวาย…ทั้งมุมแหลม มุมป้าน มุมฉาก มุมประชิด..อิรุงตุงนังวุ่นวายไปหมด…

ในแง่ของศาสนา..เปรียบจุดนั้นคือ “ภพ” (ที่เกาะเกี่ยวของ “จิต” ซึ่งหมายถึงธาตุรู้) ตราบที่ยัง “หลง” อยู่…เส้นรังสีหลายเส้นที่แผ่ออกไปจากจุดนี้ ในวิชาเรขาคณิตคือ “มุม”…ในความเห็นส่วนตัวของเราก็คือ “มุมมอง” หรือความเห็นของแต่ละคนนั่นแหละ ภาษาธรรมก็คือ “สักกายทิฏฐิ”…ต่างคนต่างมีความเห็นมุมมองของตัวเองเป็นจริงเป็นจัง มันก็เลยทำให้เราวุ่นวายอยู่กับโลกสมมติที่ซับซ้อนวุ่นวายนี้ ตามกำลังความหลงของแต่ละคน…หลงมากก็ทุกข์มาก หลงน้อยก็ทุกข์น้อย ถ้าไม่หลงเลยก็เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน..ตามพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาผู้นำล่องไปแล้ว…และก็พยามบอกสอนกรรมวิธีที่จะเข้าไปสู่สภาวะนี้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ หลังจากตรัสรู้แล้ว ด้วยพระเมตตา พระกรุณา..ไม่ได้รับจ้างพูด…อย่างที่พวกเราพยายามทำกันอยู่นี้แหละ กรรมวิธีที่จะเข้าไปสู่สภาวะพ้นทุกข์นั้น…หายใจเข้า พุท….หายใจออกโธ…พุท…โธ…ๆๆๆๆ…หรือจะบริกรรม พุทโธ ๆ ๆ ๆ..แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ยุ่งกับลมหายใจเข้าออกก็ได้…นี่คือกรรมวิธี “ลบเส้นรังสี” หรือ “ลบแขนของมุม” นั่นแหละ…ลบไปเรื่อย ๆ ด้วยความอดทนอดกลั้นที่จะฝ่าฟันกับอุปสรรคต่าง ๆ จากมุมมองความหลงของตัวเอง..ทั้ง..ฟุ้งซ่าน ง่วงเหงาหาวนอน ทั้งลังเลสงสัย ทั้งเป็นเหน็บเจ็บปวด ฯลฯ…สารพัดทุกข์ที่จะรุมเร้า..ถ้ายังไม่ท้อไม่ถอยสักวันหนึ่งเมื่อเราสามารถลบเส้นรังสีหรือแขนของมุม “มุมมอง” ที่หลงของตัวเองนั่นแหละ..ซึ่งลบหมดเมื่อไหร่มันก็จะเหลือเพียงจุด ๆเดียวคือ “จุดยอดมุม”…มันก็จะไม่มีความหมายอะไรในขณะนั้น..ในศาสนาก็คือ “เอกคตารมณ์ เอกคตาจิต” คือจิตเดียว อารมณ์เดียว..ไม่มีอดีต..ไม่มีอนาคต..มีแต่ “รู้” อยู่หนึ่งเดียว…พยายามสร้างปัญญาหาทางฟันฝ่าไปให้ถึง “จุด” นี้ให้ได้ก่อนเถอะ…แล้วค่อยบ่มเพาะปัญญาที่จะลบ “จุดยอดมุม” นี้ซะ..ความเป็นอิสระที่แท้จริงจึงจะบังเกิด….เอวัง !…..”

โดย ท่านพระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม
ณ ระเบียงรมณีย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เมื่อ วันที่ 17 มิถุนายน 2565