“…การปฏิบัติธรรม…นั่งสมาธิ…ภาวนา…ถ้าไม่มาพิจารณา “ความเจ็บปวด” แล้วก็ “ความตาย”นี้…แล้วจะไปพิจารณาอะไร?…แล้วถ้าไม่มานั่งนิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ นาน ๆ จะเห็นมั๊ยล่ะ…ความเจ็บปวดที่ชัดเจน…นี่ล่ะ “ทุกข์”…หาสิทีนี้หา “สมุทัย” น่ะ…ความเห็นว่าทุกข์ก็อยู่ใน “ไตรลักษณ์” (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) นั้นชอบแล้ว…แล้วก็คิดที่จะหาสมุทัยนั่นล่ะ “มรรค”…แต่จะไปถึง “นิโรธ”เมื่อไหร่อีกเรื่องหนึ่งนั่นคือ “ผล” …ตอนนี้เรากำลังสร้าง “เหตุ” อยู่… “ทุกขเวทนา” นี่แหละ “หินลับปัญญา” ล่ะ…เกิดมาแล้วจะไม่ให้ แก่ เจ็บ… แล้วก็ตายเป็นไปไม่ได้ …สิ่งที่ทำได้คือ…ผลิต “ปัญญา” ที่มีคุณภาพขึ้นมา…จึงจะสามารถอยู่ร่วมกับมันได้อย่างทุกข์น้อยหรือไม่ทุกข์เลย…ตามกำลังของ…”ปัญญา” ที่ “ซ.ต.พ.” แล้ว…คือเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัตินี่แหละ…“เจ้าชายสิทธัตถะ” ท่านไปเปลี่ยนแปลงอะไร? ถึงได้เป็น “พระพุทธเจ้า” …ก็เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของท่านนั่นแหละจะไปเปลี่ยนแปลงอะไร…ก่อนจะ “ตรัสรู้”ท่านก็นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ภายใต้แสงจันทร์ ฯลฯ …หลังจาก “ตรัสรู้” แล้ว…สรรพสิ่งภายนอกที่กล่าวมาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม…พระจันทร์ดวงนั้นก็ยังคงมีอยู่ตราบทุกวันนี้…แต่สิ่งที่หายไปคือ “กิเลส” ที่เคยทำให้ “ดวงจิต” ของพระองค์เศร้าหมอง…พระองค์จึงเป็น”พุทธะ”…ผู้รู้ (รู้ความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ไม่เสถียร ไม่มีสาระแก่นสาร ไม่มีอยู่จริง)..ผู้ตื่น (ตื่นจาก”ความหลง”…หลงยึดหลงถือหลงสำคัญมั่นหมายกับสรรพสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนนี่แหละ)…ผลก็เลยเป็น “ผู้เบิกบาน”…สรุปแล้วคือท่าน “รู้แจ้งโลก” จาก “ภายใน” ไม่ใช่ “ภายนอก”…แต่อาศัยเรื่องราวภายนอกเป็นตัวเร่ง…ทุกสรรพสิ่งถ้า “จิต” ไม่สำคัญมั่นหมายมันจะมีอะไรมาสำคัญมั่นหมายเรา…หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ท่านก็ยังคงมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ…อยู่เหมือนเดิม…แล้วก็ยังรับผัสสะกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ได้เป็นปกติ…เพียงแต่ไม่มี “กิเลส” ทำ “ปฏิกิริยา” ร่วมกับ “สิ่งเร้า” เท่านั้น “ความเศร้าหมอง” จึงไม่มีกับ “ดวงจิต” ที่บริสุทธิ์ของพระองค์….เช่นเดียวกับ…ความชื้นมี…อ๊อกซิเจน มี…แต่ไม่มี “เหล็ก” ทำ “ปฏิกิริยา” ร่วม… “สนิม” จะไปเกิดตรงไหน?…”


บางตอนในการบรรยายธรรม
โดย ท่านพระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม
เมื่ออาทิตย์ ที่ 24 กันยายน 2560