“…เทศน์กัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าก็ “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” นี่แหละ …พอพระอัญญาโกณฑัญญะได้ฟังท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม (ดวงตาที่ว่านี้หมายถึงตาใน หรือดวงปัญญา ไม่ใช่ตาเนื้ออย่างเรา ๆ นี้) แล้วก็ทูลขอบวช…แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายก็ฟังเทศน์กัณฑ์นี้มาจนหูเป็นรูแล้ว ผู้สวดก็สวดจนปากเป็นรูแล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่บรรลุอยู่ดี…เพราะธรรมะที่แท้จริงนั้นสัมผัสที่จิตที่ใจ ไม่ใช่ที่หูที่ตาหรือที่ปาก หากแต่จิตใจของพวกเราทั้งหลายยังไม่มีกำลัง เนื่องจากสติยังไม่เข้มแข็งพอจึงยังไม่เห็นจริงตามเป็นจริงใน “สภาวะ” ทั้งหลาย ก็เลยยังหลงยึดหลงถือ หลงสำคัญมั่นหมายอยู่กับความคิดความเห็นเดิม ๆ ของตัวเองอยู่นั่นแหละ…แล้วที่มาปฏิบัติธรรมกันนี้ก็เพื่อที่จะมาฝึกมาฝืนความรู้ความเห็นเดิม ๆ ของตัวเอง หรือมาฝึกสติให้มันเข้มแข็งขึ้นนั่นแหละ…เพราะถ้าสติมันเข้มแข็งซะแล้ว จิตมันก็จะมีกำลังเองนั่นแหละ…ก็เหมือนเราเอา “กระจก” แผ่นบาง ๆ มากั้นระหว่าง “แสงแดด” กับ “กระดาษ” …แสงแดดที่ส่องลอดผ่านกระจกไปสู่กระดาษก็ธรรมดา ๆ ไม่มีปัญหาอะไร… แต่ถ้าหากกระจกที่ว่านั้นเป็นกระจกที่มีคุณภาพแล้วก็หนาระดับเป็น “เลนส์” แว่นขยาย แล้วละก็ …แสงแดดที่ส่องลอดผ่านไปกระทบกับกระดาษมีผลแน่นอน…ยิ่งเป็นจุดโฟกัสที่เล็ก ๆ ด้วยแล้ว ถ้าไปจ่ออยู่ตรงส่วนใดส่วนหนึ่งของกระดาษนาน ๆ เข้าก็สามารถที่จะทำให้กระดาษตรงจุดนั้น ๆ มอดไหม้ไปได้…ฉันใดก็ฉันนั้นหาก “สติ” เราเข้มแข็งเหมือน “เลนส์” แว่นขยาย…แล้ว “จิต” ตัวรู้ของเราเหมือน “แสงแดด”… เปรียบตัวปัญหา คือ “กระดาษ” …พวกคุณลองคิดดู…ถ้าจิตตัวรู้ของเรามองปัญหาผ่านสติที่เข้มแข็งแล้วไซร้มันจะเหลืออะไร…จี้ไปตรงจุดใดมันก็คงมอดไหม้ไป…มอดไหม้ไปเหมือนกระดาษนั่นแหละ…แต่ในทาง “ธรรม” แล้ว สิ่งที่มอดไหม้ไปก็คือ “วิจิกิจฉา” (ความลังเลสงสัย) นั่นเอง !!!…”


บางตอนในการบรรยายธรรม
โดยท่านพระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม
ณ วัดป่าน้ำโจน เมื่อวันอาสาฬหบูชา ปี 2555