ข้อมูลส่วนตัว

อายุ : 32 ปี
การศึกษา : ปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ปริญญาโท : กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยลอนดอน (Queen Mary University of London)
ปริญญาโท : กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเค้นท์ (University of Kent)
อาชีพ : ทนายความ (ปัจจุบัน กำลังเตรียมตัวสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา)

คำถาม: คุณนับว่าเป็นคนรุ่นใหม่คือ อายุยังน้อย มีความรู้ความสามารถมีการศึกษา ตลอดจนหน้าที่การงานดี…แล้วคุณคิดอย่างไร ถึงได้มาปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดที่อยู่ป่าอยู่ดงอย่างนี้ ?

คำตอบ: “….ความจริงแล้วการเข้าวัดไม่ว่าวัยไหนก็ไม่มีข้อจำกัดนะ…วัดป่าไม่ได้ห้ามคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาเข้าวัดซะเมื่อไหร่ !!!…ตรงกันข้ามยิ่งเราเป็นคนฝักใฝ่ศึกษาค้นคว้า เรายิ่งชอบความท้าทายน่าทดลอง และพิสูจน์ด้วยตนเองนั่นแหละ เป็นสิ่งที่ต้องค้นหาให้ได้ว่า วัดป่าที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง มีความแตกต่างอย่างไรกับวัดดังใกล้บ้านในเมือง ทั้งด้านสถานที่ การเป็นอยู่ ข้อวัตรต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ …เราเคยเห็นภาพในหลวงรัชการที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปกราบหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด ซึ่งอยู่ถึงจังหวัดอุดรธานี ทั้ง ๆ ที่ในกรุงเทพมหานคร มีวัดดังตั้งมากมายสวย ๆ งาม ๆ ทั้งนั้น คือ ขนาดพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเสด็จไป ก็แสดงว่าที่วัดป่าแห่งนั้นต้องมีอะไรดีสักอย่าง และนี่คือคำถามที่ชวนให้เราตามหาคำตอบด้วยตนเอง

แต่ถ้าคิดง่าย ๆ ในวันที่อากาศร้อนจัด คงไม่ต้องพูดถึงหน้าร้อนในประเทศไทย อย่าว่าแต่ป่าเลย เพียงแค่เราได้นั่งพักเย็นสบายใต้ร่มไม้ใหญ่สักครู่นึง แค่จินตนาการ ก็รู้สึกถึงความผ่อนคลายสบายใจแล้ว …แล้วยิ่งเป็นป่าที่มีต้นไม้เยอะแยะมีความชื้น เราจะสดชื่นขึ้นขนาดไหน ?…แต่ความจริงนี่ไม่ใช่แค่ป่าแต่เป็น “วัดป่าน้ำโจน” ที่มีทั้งพ่อแม่ครูอาจารย์ “คุณยาย”, “พี่จุ๋ม”, “ทิดโฮ้”, “ทิดเอ็ม” และสถานที่ ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ ทดลองปฏิบัติในทางด้านของศาสนา และการจัดการตัวเองให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติในป่าได้อย่างกลมกลืน ไม่ก่อปัญหา…สิ่งเดียวที่ต้องทำ คือการเรียนรู้ ยอมรับ และแก้ไขตนเอง ต้องย้ำว่า “ตนเอง” ไม่ใช่สิ่งอื่น ๆ หรือคนอื่น ๆ แล้วเราก็จะสบายใจเหมือนนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ในวันที่อากาศร้อนนั่นแหละ …สิ่งที่เราได้จากวัดป่า เราก็ขนออกจากป่า มันมากับเราด้วยเวลาอยู่ที่บ้านหรือที่ไหน ๆ …สนุกดี เรียบ ๆ ง่าย ๆ …มีเสียงหัวเราะและรอยยิ้มเสมอ ไม่เหมือนกับการไปอยู่วัดที่เห็นตามหนังตามละคร

สำหรับเราเคยคิดหลายครั้งก่อนหน้านี้ว่าอยากจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสักแห่ง แต่ก็ยังไม่มีโอกาสสักที พอดีรอบนี้ได้มากราบ “พระอาจารย์อังคาร” ที่…”บ้านสวน” จ.ลพบุรี (ท่านไปอยู่โปรดญาติโยมที่นั่น) ซึ่งพ่อกับแม่เราเคยเจอพระอาจารย์ก่อนเรา แล้วบอกกับเราว่า “ต้องมาฟังธรรมของท่านให้ได้ เข้าใจได้ง่าย คือฟังแล้ว get เลย ดีมากกกกก…” เราก็เลยไปที่ “บ้านสวน” แห่งนี้แหละ (เวลาที่ท่านไปพักโปรดญาติโยม)…ไปเกือบทุกวันที่ท่านพระอาจารย์อยู่ที่นั่น แล้ววันหนึ่งพระอาจารย์ท่านก็ชวนไปวัดป่าน้ำโจน ตอนที่ท่านจะกลับวัดพอดี…ความรู้สึกเราตอนนั้นดีใจมากเลยนะ…ยังจำไม่ลืมเลย …เราตอบตกลงรับปากท่านทันทีเพราะจะไปให้รู้ให้เห็นอยู่แล้ว และเราก็อยากจะไปปฏิบัติธรรมด้วย สำหรับเราตอนนั้นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้สัมผัสการปฏิบัติธรรมที่วัดป่าของแท้ และที่นี่เป็นที่แรกและเราประทับใจ อิ่มใจ พอใจ และเราก็ไม่มีความคิดที่แสวงหาจะไปวัดป่าอื่น ๆ คือได้ไปก็ดี ไม่ได้ไปก็ไม่เดือดร้อนวุ่นวายอะไร เพราะเชื่อว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ พระอริยสงฆ์ ท่านปฏิบัติมีข้อวัตรที่เหมือนกันทุกองค์…”

คำถาม: เข้าวัดปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่กลัวคนเขาว่า “ล้าหลังคร่ำครึ ตกกระแส หรือว่าเป็นคนมีปัญหา” หรือ ?

“…ถ้าทุกวันนี้เรายังใช้เทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ ผ่านมือถืออย่าง Iphone หรือ ยังติดต่อสื่อสารผ่าน facebook หรือแม้กระทั่งบ้านทุกบ้านยังต้องพึ่งพาแสงสว่างโดยใช้หลอดไฟ…เราเคยนึกย้อนไปหรือไม่ว่า ใครกันคือผู้ที่คิดค้นประดิษฐ์สิ่งเหล่านี้ เราคงต้องขอบคุณผู้ประดิษฐ์คิดค้นอย่าง…มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ,สตีป จ๊อป และ เอดิสัน ฯลฯ …เรายังไม่เห็นมีใครบอกเลยว่า คนเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เป็นคนล้าหลังคร่ำครึ เราได้ยินแต่คนมากมายชื่นชมยินดี เพราะพวกเขาใช้ปัญญาเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้กับความต้องการของพวกเราให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น …เราส่วนใหญ่ก็ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากความคิดของคนเหล่านี้นั่นก็คือ…เดินตามความคิดของพวกเขาก็เพราะเห็นว่ามันดี ทันสมัย เจ๋งสุด แต่นั่นก็คือการใช้ปัญญาของคนอื่นที่ตกทอดมาสู่เรา แล้วเราเคยค้นหาปัญญาของเราเองบ้างมั้ยว่า…มันมีแค่ไหน อยู่ตรงไหน สำหรับเราแล้วแม้เราจะไม่ได้เกิดในสมัยที่มีพระพุทธเจ้าที่สั่งสอนผู้คนด้วยตนเอง แต่เราก็ยังได้เกิดมาพบพระสงฆ์อริยบุคคลที่นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่ เพื่อให้เราได้เห็นแบบอย่างทั้งคำสอน และการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การผลิตปัญญาของตนเองขึ้นมาให้ได้…เราไม่ได้หวังว่าจะได้ผลิตคิดค้นอะไรมากมาย แต่เพียงแค่เราได้ผลิตปัญญาของเราเองขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม โดยไม่ทำให้สังคมเดือดร้อนเสียหาย รู้จักหน้าที่ตามสถานะ สถานภาพ รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร บังคับจิตใจตัวเองไม่ให้ตกไปอยู่ในความใฝ่ต่ำ และรู้จักรักษาใจของตนเอง ทั้งหมดนี้ล้วนต้องอาศัยปัญญาที่ตัวเองผลิตขึ้นมาเพื่อทลายความรู้สึกไม่ดีทั้งหลาย เพื่อที่จะอยู่กับความเป็นจริงให้ได้ด้วยตนเอง นี่แหละคือการเดินตามรอยพระพุทธเจ้าที่ท่านทรงสอนให้ใช้ปัญญา เพราะท่านเป็นยิ่งกว่าปราชญ์ยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้คิดค้นหนทางที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง โดยไม่ได้อาศัยเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพงใด ๆ เลย ซึ่งไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์ผู้ใดทำได้อย่างพระพุทธเจ้า ซึ่งค้นพบความจริงของโลกที่เป็นจริงอยู่ตลอดกาล ด้วยปัญญาของท่านเอง แล้วแบบนี้จะเรียกว่าคนเข้าวัดฝึกปฏิบัติภาวนาคือคนคร่ำครึล้าหลัง ตกกระแสได้ยังไง หนำซ้ำกลับยิ่งเป็นคนทันกระแส (กระแสกิเลสไง) เป็นผู้นำ trend (นำไปสู่ทางที่ดีที่เจริญขึ้น) ให้กับตนเองและผู้อื่นได้อีกต่างหาก การเข้าวัดปฏิบัติธรรมก็คือการมาวัดใจตนเองว่าจะเรียนรู้ ฝึกฝน ต่อสู้กับสภาวะความจริงที่เกิดขึ้นที่ได้พบได้เจอ ได้มากแค่ไหนด้วยปัญญาของตนเอง แล้วเราก็จะเห็นตัวเองว่า…เราเป็นผู้ที่มีปัญหา หรือเป็นผู้ที่มีปัญญากันแน่ ???…นี่แหละคือ คำตอบของการมาวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และพระอาจารย์ก็สอนให้เห็นว่าการปฏิบัติธรรมมันไม่ใช่แต่จะมาทำกันที่วัด เพราะที่ไหน ๆ บนโลกนี้ก็ทำได้นั่นก็คือการวัดใจตนเองอยู่เสมอเวลาที่เราต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งเวลาที่อยู่กับตัวเองลำพัง… บางคนอาจเสียเวลามัวแต่ไปวัด คือ วัดกับคนอื่น ๆ แล้วคุณล่ะ เคยวัดใจตัวเองบ้างหรือยัง ???…ถ้าเคยวัดแล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ… ทุกคนล้วนต้องเจอปัญหาค่ะ แต่ปัญญาเท่านั้นที่จะผ่านมันไปได้…”

คำถาม: แล้วคุณคิดว่าคุณได้อะไรบ้างกับการมาปฏิบัติธรรมอย่างนี้น่ะ ?

“…อันนี้ส่วนตัวนะ…คนอื่น ๆ อาจได้อย่างอื่น เช่น การฝึกตนเอง การพัฒนาตนเอง นอกจากเรื่องเหล่านี้สำหรับเรา…เรามาปฏิบัตธรรมที่วัดป่าน้ำโจนครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ช่วงวันที่ 3 – 12 มิถุนายน 2560 เราเพิ่งเข้าใจคำว่า “จิตมีกำลัง”…คือเราฟังมาจนหูจะทะลุอย่างที่พระอาจารย์สอนนั่นแหละกับคำว่า “ถ้าสติเข้มแข็ง”…”จิตย่อมมีกำลัง”…การคิดวิเคราะห์แยกแยะก็ย่อมมีคุณภาพอยู่กับสิ่งเร้าที่มากระทบได้ดี…นี่คือเราฟังจนท่องได้ แต่เราเพิ่งมาเข้าใจเพิ่มขึ้นสำหรับการปฏิบัติก็เมื่อวานนี้เอง (11/06/60) คนอื่นอาจฟังครั้งแรกก็เข้าใจได้เลย ดูเหมือนเป็นประโยคง่าย ๆ แต่เราไม่ค่ะ เราไม่ค่อยเข้าใจ ได้แต่ท่องไว้ในใจจนมาเจอความหมายวันนี้ เราคงโง่ค่ะเพราะฟังมาหลายครั้งกว่าเข้าใจความหมาย

พอได้เข้าใจความหมาย เรารู้สึกดีใจมาก ๆ มันมากจริง ๆ เหมือนหาของอะไรสักอย่างเจอ ทั้ง ๆ ที่เราวางไว้แถวนี้แหละแต่ก็มองไม่เห็นสักที คือ เราไม่ได้เข้าถึงความสงบอะไรตรงนั้นหรอกนะ แต่เราก็รู้แล้วหละว่า…“จิตมีกำลัง” คือ มีกำลังวังชา เรา get ตอนที่พระอาจารย์อธิบายให้ฟังว่ามันก็เหมือนกับร่างกายที่เราใช้งานมันมากหนักทั้งวัน…สุดท้ายมันก็เหนื่อย มันก็ต้องนอนหลับไปตามธรรมชาติเพราะมันต้องการชาร์จพลังใหม่สะสมไว้ พลังงานที่เราสะสมไว้ตอนนอนหลับก็จะกลายเป็นพลังให้เราสามารถทำทุกอย่างได้ยามเราตื่นมา นี่คือ “กำลัง”…แต่ตอนนอนหลับเราชาร์จพลังได้แค่เพียงส่วนของร่างกาย แต่จิตใจเรามันยังไม่ได้ชาร์จพลังเลยนะ…มันยังไม่ได้พักเพราะมันเอาไปฝันนู้นนี่อยู่ แสดงว่าเราก็ต้องหาที่ชาร์จพลังของจิตใจเราบ้างแล้ว นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ แสดงว่าที่ผ่านมาเราชาร์จพลังด้านจิตใจน้อยมาก…ทำให้จิตใจเรายังไม่มีกำลังมากพอที่จะออกไปฟันฝ่าสิ่ง ต่าง ๆ ให้ได้ดีพอ เราเลยได้คิดและได้อุบายในการกระตุ้นตัวเองให้ขยันฝึกฝน ฝืน และบังคับตนเองให้หันมาชาร์จพลังทางจิตใจบ่อยขึ้นกว่าเดิม หาช่วงเวลาที่พักผ่อนจิตใจมากขึ้นกว่าเดิม…เพราะเรามักจะมีช่วงฮิต ๆ ขยัน ๆ นั่งภาวนาบ้างกับบางช่วงก็ขี้เกียจบ้าง ห่างหายไปก็มี พระอาจารย์มาทีก็กระตุ้นกันทีนึง คือ เราจะมานั่งสมาธิพร้อมกับพระอาจารย์เกือบทุกครั้ง (ถ้าไม่ติดเรียนติวที่กรุงเทพ) คือ ไม่ค่อยมีกำลังใจเป็นของตัวเอง แต่ตอนนี้่เราพัฒนาขึ้นบ้างล่ะ เรามีอุบายสำหรับเราเองในการเป็นแรงกระตุ้น ฝึก และฝืนมากขึ้นกว่าเดิม…ตอนนี้ประโยคสั้น ๆ ที่พระอาจารย์ท่านสอนเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากชาร์จพลังทางใจของเรานะ ไม่ใช่แค่นอนชาร์จพลังทางร่างกายอย่างเดียว ก็เพื่อที่สักวันหนึ่งเราจะได้เห็นจิตใจเรามีกำลังในตัวเองว่ามันจะยังไง…พระอาจารย์บอกว่า “ไม่มีใครนอนพักครั้งเดียวแล้วคุ้มไปตลอดทั้งปี”….เราจึงคิดว่า นอนทุกวันเรายังนอนได้ แล้วเราจะให้จิตพักบ้างไม่ได้เชียวเหรอ…เราไม่ได้รับปากว่าจะทำให้ได้ทุกวันเหมือนนอน…แต่เราจะทำให้บ่อยขึ้น เพราะเราเข้าใจแล้วว่ามันสำคัญมากแค่ไหน เราจะตั้งใจฝึกมากกว่าเดิม พอมาฝึกแล้วจะรู้ว่ามันไม่ง่ายเหมือนตัวอักษรที่เล่าให้ฟังเลยค่ะ

อีกเรื่องที่ได้คิดและเห็นประจักษ์ก็เรื่องจากป่านี่แหละ …ก็ตอนที่เพื่อนเราหลงป่านะ…พระอาจารย์อธิบายหลักอริยสัจ 4 เรื่อง “หลงป่า” ได้เนียนมาก เราเข้าใจความหมายได้ดีเลย ได้ความรู้สึกอรรถรสนั้นจริง ๆ เลย

นอกจากนี้…เรายังเห็นตัวอย่างที่ดี คือ ความเพียร ความอดทนอย่างมาก ที่ “พระอาจารย์”, “คุณยาย”, “พี่จุ๋ม”, “พี่โฮ้” ,”พี่เอ็ม”, “พี่หนึ่ง”, และคุณหมอวีระพันธ์…ที่ได้เดินทางมาถึงวันนี้ได้ เป็นวัด มีสถานที่ปฏิบัติดี ๆ แบบนี้ได้มันไม่ง่ายเลย ร่องรอยแห่งความลำบากยังมีให้เราได้เห็น ได้ศึกษาถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้าง “วัดป่าน้ำโจน” จากพื้นที่ที่เป็นหลุมถ่าน ป่าเสื่อมโทรม จนสำเร็จถึงวันนี้ที่มีสถานที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาปฏิบัติธรรมได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ ตอนนี้ที่เราไปไม่ลำบากแล้วนะ สบายใจได้ถ้าจะไป…แค่เราได้เห็นร่องรอยเราก็รู้ว่า ….”เพชรแท้มีอยู่จริง” ค่ะ…”