“…เวลาหิวมันก็อ่อนแรง กระสับกระส่าย หงุดหงิดงุ่นง่าน ไม่มีอารมณ์ที่จะทำงานหรอก…ต้องไปหาอาหารกินซะ…กินไปเรื่อย ๆ ทีละคำ ๆ ๆ ความหิวโหยก็จะหายไปเรื่อย ๆ ถึงที่สุดความหิวโหยก็จะไม่มี…นั่นสภาวะนั้นเรียกว่า…”อิ่ม” คงไม่มีใครสงสัยความ “อิ่ม” ของตัวเองนะ“จิต” ที่ฟุ้งซ่านก็คือจิตที่ “หิวอารมณ์” มันก็จะโหยหาสิ่งที่ “ชอบ” ปฏิเสธสิ่งที่ “ชัง” วุ่นวายกับ “อนาคต” หมกมุ่นอยู่กับ “อดีต”…จนหาความสุขที่แท้จริงใน “ปัจจุบัน” ได้ยาก…

…พระพุทธเจ้าท่านจึงพยายามบอกสอนให้เอา “ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก” หรือคำบริกรรม “พุท – โธ” หรืออะไรก็ได้ที่ถูกจริตนิสัย ป้อนตัวรู้เข้าไปเรื่อย ๆ อย่างเราหายใจเข้าก็กำหนดคำบริกรรมว่า “พุทธ” หายใจออกก็บริกรรมว่า “โธ” อยู่ภายในใจ ไม่ต้องออกเสียง …ลมหายใจกระทบที่ปลายจมูกก็กำหนดรู้ที่ปลายจมูกนี่แหละ… “พุท” …”โธ” ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ เหมือนกินข้าวทีละคำนั่นแหละ ถ้ามัน “อิ่ม” มันพอแล้ว มันก็ไม่มี “พุท” ไม่มี “โธ” ไม่มีแม้กระทั่ง “ลมหายใจ” ในความรู้สึกในขณะนั้น …มีแต่สภาวะ “รู้เด่น” โล่งโปร่งอยู่หนึ่งเดียว…ไม่รับรู้สรรพสิ่งภายนอกใด ๆ ทั้งสิ้นในขณะนั้น…นั่นแหละ “จิตสงบ” จิตที่ “อิ่มในอารมณ์” ไม่โหยหาเรื่องราวใด ๆ แล้วในขณะนั้น…มันไม่สงสัยหรอกถ้าไปถึงจุดนั้นเหมือนเรากินข้าวอิ่มก็ไม่สงสัยในสภาวะอิ่มของตัวเองหรอก ไม่มีใครบอกให้หยุดก็หยุด ไม่มีใครบอกให้เลิกก็เลิกค่อย ๆ ทำไปเถอะเดี๋ยวมันก็รู้เองเห็นเองที่สำคัญเรื่องของเราทั้งนั้น “ฟุ้งซ่าน” ก็เรา “ง่วงเหงาหาวนอน” ก็เรา “เป็นเหน็บเจ็บปวด” ก็เรา…”เป็นมูตรเป็นคูตร” ก็เรา “แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไม่เสถียร” ก็เรา เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่มี “เรา” นั่นแหละ “ศาสนาพุทธ” ล่ะ !!!…”

บางตอนในการบรรยายธรรม
โดยท่านพระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม
ณ ห้อง MD 420 (ห้องชมรมสานแสงอรุณ)
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
วันศุกร์ ที่ 27 มกราคม 2560