พระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม
เมตตาตอบปัญหาธรรม
————————————
“…“ พระพุทธเจ้า ” นั้นท่านทรงเป็นเพียงผู้บอกผู้สอน… “พระธรรม” ก็คือสภาพความเป็นจริงที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไม่จีรังยั่งยืนหาสาระแก่นสารอันใดไม่ได้ของสรรพสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วนำมาบอกมาสอน เพื่อชี้ให้เห็นถึงโทษของความหลงที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนทั้งหลายเหล่านั้น กับประโยชน์ของการปล่อยการวาง… “พระอริยสงฆ์” ก็คือผู้ที่ลงมือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนเห็นจริงตามเป็นจริงแล้วจึงนำเสนอสิ่งที่รู้ตาม ตื่นตาม แล้วก็เบิกบานตาม พระบรมศาสดา…มาสู่อนุชนรุ่นหลัง ๆ สืบต่อมา…
แต่เนื่องจากอนุชนคนรุ่นหลัง ๆ ที่ยังเป็นปุถุชนที่หยาบอยู่ ก็จะเป็นการยากที่จะเข้าไปถึงพระธรรมคำสอน..ซึ่งเป็นนามธรรมที่ละเอียดอ่อน.. บรรพชนตั้งแต่โบราณท่านเมตตาห่วงใยความรู้สึกนี้ของ.. “เวไนยสัตว์” รุ่นหลัง ..จึงได้คิดสร้าง “พระพุทธรูป” ขึ้นมาเป็นตัวแทน.. “พระศาสดา” ทางกายภาพ.. .. เพื่อระลึกถึงบุญคุณอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ได้นำความรู้ที่เสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต.. จึงได้ค้นพบ.. แล้วมานำเสนอแก่.. เวไนยสัตว์คือ สัตว์ที่พอจะโปรดได้.. ด้วยพระเมตตาพระกรุณา โดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทนใด ๆ…และอีกนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้อนุชนรุ่นหลังปฏิบัติตามพระองค์ในการแสวงหา “ปัญญาอันยิ่งยวด” … ที่จะทำให้หลุดพ้นจากความติดข้องจากทุกสรรพสิ่ง.. อันจะนำไปสู่ความเป็น.. “อิสรภาพ“.. ชั่วนิรันดร์..
สรุปแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นเพียงแค่ผู้บอกผู้สอน…ส่วนการกระทำนั้นเรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายที่อยากจะพ้นทุกข์พ้นยากนี่แหละ จะต้องลงมือศึกษาแล้วก็กระทำเอาเอง…ตั้งแต่เรื่องของหลักการ (ปริยัติหรือทฤษฎี) จนกระทั่งก้าวไปสู่สภาวะ หรือสภาพตามเป็นจริงในความสงบตั้งมั่นของจิต …แล้วถ้าสามารถพิจารณาทางด้านปัญญาจนก้าวไปสู่การเห็นจริงตามเป็นจริงในสภาวะของความไม่สวยไม่งาม ไม่จีรังยั่งยืนหาสาระแก่นสารอันใดไม่ได้ของธาตุของขันธ์…ตลอดจนถึงสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง…ถึงตอนนั้นความลังเลสงสัย…ในพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ย่อมจะไม่มี…ความยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็นเดิม ๆ ของตัวเองก็จะหดหายไป…จะมีก็แต่ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) …สัมมาสังกัปโป (ความคิดชอบ) ฯลฯ ต่อไป…ขนาดนี้แล้ว…ไม่มีหรอก…มงคลตื่นข่าวน่ะ…มันก้าวเข้าไปสู่… “กรรมนิยม” แล้ว!!! คือ…เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจะทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะเป็นทายาทคือว่าจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ๆ สืบต่อไป…นี่แหละ “จิตถึงไตรสรณคมณ์” ล่ะ!!!…พิจารณาแยกแยะใคร่ครวญไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง “ไม่มีเรา” “ไม่มีของของเรา” ไม่มีอะไรมีอยู่จริงตามเป็นจริง…นั่นล่ะ “ปัญญาอันยิ่งยวด” …นั่นแหละ ”ศาสนาพุทธ“ ล่ะ !!!…”