หลักจิต…หลักใจ
“….บางคนเดือนหนึ่งหรืออาจจะเป็นปีก็มีที่ไม่เคยได้สวดมนต์ทำวัตร หรือนั่งสมาธิภาวนาเลย…แต่การฟังเทศน์ – ฟังธรรม นั้นก็ค่อนข้างจะมีโอกาสมากกว่าอยู่แล้ว..ด้วยเหตุนี้ในเมื่อวันนี้เรามีโอกาสได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ “ศาสนาพุทธ” ได้นิมนต์พระสงฆ์มา…เผอิญพระที่มาคืออาตมานี่ก็ไม่ใช่พระนักเทศน์ซะด้วย..ก็น่าที่จะพากันทำในสิ่ง ที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำกันคือ สวดมนต์ทำวัตรเย็นเพื่อระลึกถึงคุณงามความดี…ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยะเจ้าที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำคำสอนนั้นสืบทอดมาจนถึงยุคของพวกเรา…ต่อจากนั้นก็พากันลงมือปฏิบัติตามคำสอนนั้น…คือละชั่ว ทำดี และก็พยายามทำจิตใจให้บริสุทธิ์…คนเรามันจะชั่วจะดีมันก็อยู่ที่จิตที่ใจ….จิตใจ ในที่นี้ก็คือความรู้สึกนึกคิดของเรานี่แหละ…มานั่งดูมันซิว่ามันจะไปทางไหน…มันคิดที่จะไปอาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรมกับใครมั๊ย ?…มันคิดที่จะไปเบียดเบียน ผู้อื่นสัตว์ อื่นให้เดือดร้อนมั๊ย ฯลฯ …ถ้ามันไปอย่างที่ว่ามานี่ก็ให้ “ละ” ให้ “วาง” ซะ เพราะมันเป็นความคิดที่ “ชั่ว” ที่ “ไม่ดี” มันจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตัวเองในภายหลัง…ถ้าละถ้าวางได้นั่นล่ะเรียกว่า “ทำดี” แล้ว….ทีนี้ก็ให้พยายามอยู่กับคำบริกรรมให้มาก ๆ เข้าไว้…คำบริกรรมนั้นก็แล้วแต่ใครจะถนัดอะไร ?
…แต่ในสายของพระป่ากรรมฐานของหลวงปู่มั่น ท่านให้กำหนด “พุทโธ” หรือ จะดูลมหายใจเข้า – ออก เป็นส่วนมาก ซึ่งอาตมาจะใช้วิธีหายใจเข้าก็กำหนดว่า …“พุท” หายใจออกก็กำหนดว่า “โธ” เป็นหลัก ถ้าใครชอบจะทำตามก็ได้…จุดมุ่งหมายคือให้ “จิต” ซึ่งมันเป็น “ธาตุรู้” มันจะได้มีที่เกาะที่เกี่ยวไม่อย่างนั้นมันก็เที่ยวออกรู้ไปหมด ถ้ามันรู้อยู่กับลมหายใจเข้า “พุท” ลมหายใจออก “โธ” มันก็ไม่ไปยุ่งวุ่นวายกับที่อื่นเรื่องอื่นแต่ถ้ามันออกไปจากนี่ มันก็ไปที่อื่น…ที่อื่นในที่นี้คือ…คุณสำคัญมั่นหมายในเรื่องอะไรมันก็ไปตรงนั้นแหละ…ห่วงบ้านก็ไปปรุงแต่งเรื่องบ้าน ห่วงงานก็ไปวุ่นอยู่กับงาน ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่นั่งอยู่ตรงนี้แหละ….พระพุทธเจ้าท่านจึงให้มาฝึก คือ มาฝืนความคิดความเห็นเดิม ๆ ของพวกเรา…เพื่อที่จะให้พวกเราก้าวเข้าไปสู่ความสงบ คือสงบจากความคิด ความปรุง ความแต่ง กับเรื่องราวต่าง ๆ นั่นแหละจะได้เป็นฐานผลิต ปัญญาให้รู้รอบในกองสังขารอันจะนำไปสู่ “ความพ้นทุกข์” ต่อไป….ซึ่งในที่นี้พวกเราคงไม่มีความจำเป็นที่จะไปลงลึกถึงขนาดนั้นหรอก…แต่ที่เกริ่นมาซะยืดยาวก็เพียงเพื่อจะให้พวกเรา ได้รู้หลักการที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ เอาไว้บ้างพอเป็นแนวทางสำหรับคนที่ยังไม่รู้ ส่วนคนที่รู้แล้วก็ให้ประมวลหาบทสรุปเอาไปใช้กับวิถีชีวิตของตัวเอง ให้มันพอดีกับเพศภาวะ สถานะ กาลเทศะของใครของมัน…นั่นล่ะ “ธรรมะ” …เอ้า !!! ทีนี้ก็ให้พากันตั้งใจสวดมนต์ทำวัตร แล้วก็นั่งสมาธิภาวนาต่อสัก 20 นาที หลังจากนั้นใครมีอะไรก็ค่อยว่ากันเน๊าะ !!!…”
โดย… ท่านพระอาจารย์อังคาร อคฺคธมฺโม
ณ “ตึกเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร”
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2556