เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ท่านพระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม วัดป่าน้ำโจน จ.พิษณุโลก เมตตานำนั่งภาวนาและแสดงธรรม ณ ห้องพิธีการ 1 วัดปทุมวนาราม ตามคำกราบนิมนต์ของคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี...ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ..สาธุๆๆ
พระอาจารย์เมตตานำนั่งภาวนาเป็นเวลา 3 ชั่วโมง
คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย
ประธานมูลนิธิธรรมดี
คุณอาทิตย์ ชีวณิชชากร
Interior Design
The hardware revival
คุณสโร
เจ้าของกิจการ SARO Royal Lotus Tea
คุณอภิชาติ กาญจนะสันติสุข
วิศวกรไฟฟ้า 7
ฝ่ายควบคุมไฟฟ้า
การไฟฟ้านครหลวง
“แผ่เมตตาหลังจากนั่งภาวนาเสร็จ”
สาธุ..บุญกุศลใดหากเกิดขึ้นแล้วมีขึ้นแล้วแก่ข้าพเจ้านี้ ก็ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในวัฏสงสารนี้ทุกผู้ทุกคน ทุกรูปทุกนาม ทุกตัวทุกตน..ขอจงเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญนี้ด้วย..หากตกทุกข์ก็ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้าถึงสุขแล้วก็ขอให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป..สาธุ
สวดมนต์ทำวัตรเย็น
พระอาจารย์สนทนาธรรมกับญาติโยม
ชักเย่อกับอารมณ์
“… ก็เพราะพวกเรางานยุ่ง เพราะพวกเรามันสมองดีเลิศจึงคิดแต่จะส่งจิตออกนอก จนเลยเขตเลยแดนนั่นแหล่ะ มันจึงทำให้พวกเราต่างคนต่างเครียด ซึ่งหากว่าไม่มีความยับยั้งชั่งใจแล้วล่ะก็ อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้ตัวเองหงุดหงิด มากกว่านั้นก็เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน ผัวเมีย ญาติพี่น้อง หมูหมากาไก่ หรือแม้กระทั่งบางครั้งข้าวของเครื่องใช้ก็ยังพลอยโดนหางเลขเข้าไปด้วย…ที่พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้ให้มาดูลมหายใจเข้า-ออกนั้นก็เพื่อจะให้พวกเราได้รู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของพวกเรา ตัวที่จะนำสุขนำทุกข์มาสู่พวกเราทั้งชาตินี้และชาติหน้าตราบเท่าที่พวกเรายังมีความสำคัญมั่นหมายอยู่กับสรรพสิ่งนั่นแหล่ะ … “จิต” คำเดียวสั้นๆ มันคือ “ผู้รู้” มันเป็นนามธรรม มันเป็นธาตุรู้ มันจะต้องออกรู้จะให้มันอยู่เฉย ๆ ลอย ๆ ไม่ได้หรอกในเบื้องต้น เนื่องจากการรู้ของมันยังไม่มีวุฒิภาวะพอ เหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่คอยสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับพ่อแม่นั่นแหล่ะ… เดี๋ยวก็เรื่องนั้นเดี๋ยวก็เรื่องนี้.. จนกว่าเขาจะเล่นจนเหนื่อยแล้วก็หลับไปเองนั่นล่ะ พ่อกับแม่ถึงจะพอได้หายใจ หายคอ โล่งสะดวกขึ้นบ้าง..ฉันใดก็ฉันนั้น
..จิตก็เหมือนกันเราจึงต้องหาเครื่องอยู่หรือของเล่นให้มันเล่น อย่างเช่นให้มันรู้อยู่ หรือเล่นอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือเพิ่มคำบริกรรมเข้าไปด้วยก็ได้เช่น หายใจเข้าก็พุท หายใจออกก็โธ โดยอาศัย “สติ” คือความระลึกได้ “สัมปชัญญะ” ความรู้ตัวเป็นพ่อเป็นแม่ช่วยกันประคับประคองคอยกำกับ ดูแลลมหายใจมันกระทบที่ไหนชัดเจนก็ให้สติคือ ความระลึกได้กำหนดดูอยู่ที่นั่นมันจะแว้บหนีจากลมหายใจ จากคำบริกรรมไปเที่ยวที่ไหน ก็ให้สัมปชัญญะความรู้ตัว พยายามรู้ให้เท่าทันแล้วดึงมันมาแว้บไปก็ดึงมา…แว้บไปก็ดึงมา…ทำอยู่อย่างนั้นแหล่ะเหมือนเล่น “ชักเย่อ” กันเดี๋ยวก็พุท..โธ ..ๆๆ เดี๋ยวมันก็แว้บไป เรื่องการเรื่องงาน เรื่องบ้านเรื่องช่อง เรื่องรักเรื่องชัง เรื่องดีเรื่องชั่ว เดี๋ยวก็อดีตเดี๋ยวก็อนาคต เราก็พยายามดึงให้มันมาอยู่กับปัจจุบัน คือ หายใจเข้าก็พุท..หายใจออกก็โธ..เอาอยู่อย่างนี้แหล่ะ วันละ 5 นาที 10 นาที ก็ยังดีใครอินทรีย์แก่กล้ามีเวลามากก็ทำให้มาก เจริญให้มาก ทำจนจิตมันสงบเยือกเย็นจนเป็นสมาธิได้ ก็ยิ่งจะเป็นบุญเป็นกุศลอันมหาศาลแก่ตัวเอง
..แต่ถึงแม้นว่า มันยังไม่สงบลึกจนเป็นสมาธิอะไรก็ตามก็ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจอะไร อันจะเป็นการไปเพิ่มความเครียดให้กับตัวเองเปล่าๆ ก็ต้องหัดคิดให้เป็นไปในทางบวกบ้างว่า..ช่างมันเถอะอย่างน้อยๆเราก็ไม่ได้ไปสร้างบาปสร้างเวรอะไรกับใคร อย่างน้อยมันจะต้องสงบอารมณ์บ้างล่ะ (ถือซะว่าได้เซฟสมองไว้ใช้งานในวันต่อไป) อย่างน้อย ๆ ก็จะได้รู้ได้เห็นความเป็นไปของจิตบ้างล่ะ (เดี๋ยวก็โดดไปคว้าเรื่องนั้นจับเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา) หรืออย่างน้อยๆ ก็จะต้องรู้จักการยับยั้งชั่งใจ รู้จักการผิดหวังบ้างล่ะ (คือเคยคิดเคยปล่อยอารมณ์ตามสบายเรื่อยเฉื่อยตลอดมาแต่พอเวลานั่งภาวนากลับต้องถูกเบรคอารมณ์ ถูกเบรคความคิดไงล่ะ)…”
โดย… ท่านพระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม
“…โดยปกติคนเรานั้นจะชอบทำอะไรตามใจตัวเองอยู่แล้ว อยากคิดก็คิด อยากทำอะไรก็ทำ แต่ปานนั้นก็ยังบ่นว่าทุกข์ว่าไม่สบาย ว่าไม่ได้ดั่งใจเลย ในเมื่อมันเป็นเช่นนั้น พวกเราก็มาลองทำตามพระพุทธเจ้าดูบ้าง จากน้อยไปหามาก วันละ 5 นาที 10 นาที ก็ไม่น่าจะทำให้อะไรเสียหาย นอกจากกิเลสมันจะเสียความรู้สึกบ้างที่เราไปแข็งข้อกับมัน เพราะในขณะที่เราฝึกปฏิบัติจิตนั้น เราจะต้องฝืนความคิด ความเห็นเดิม ๆ ของเราหมด อยากคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ไม่ให้ไปคิดไปปรุง ดึงให้มาอยู่กับลมหายใจนี่ซะ หายใจเข้าก็พุท หายใจออกก็โธ พุท..โธ..ๆๆ ..อยากจะลุกจะเดินจะนอนจะไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่อะไรต่างๆเหล่านี้ เราก็ต้องฝืนต้องใช้ขันติ ความอดทนอดกลั้นเอา มันไม่ตายหรอก ทำบ่อย ๆ ทำให้มาก เจริญให้มาก สติสัมปชัญญะก็จะเข้มแข็งขึ้น จนรู้เท่าทันอาการของจิต จนกระทั่งสามารถควบคุมจิตได้ จิตใจก็จะเริ่มมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกำลังแห่งสติปัญญา เวลามีเรื่องอะไรมากระทบกระทั่งก็จะได้รู้จักหยุดพิจารณา รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักคิดบวกลบคูณหาร ถึงผลที่จะตามมาภายหลังก่อน แล้วจึงค่อยตัดสินใจพูดหรือตัดสินใจทำลงไปในทุก ๆ เรื่อง
…ถ้าจิตของพวกเราพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ พวกเราก็จะรู้เองนั่นแหล่ะว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนหรอก ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบหรอก ไม่มีอะไรดีไปหมด ไม่มีอะไรชั่วไปหมดมันจะต้องคละเคล้ากันอยู่อย่างนี้ เราไม่สามารถไปกำหนดกฎเกณฑ์ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้อย่างใจเราหวังหรอก พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกให้พวกเรารู้จักทำใจไงล่ะ…ทำใจให้มันนิ่ง ๆซะบ้าง เพื่อที่จะได้รู้ได้เห็นถึงความแปรปรวนต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น จะได้เห็นโทษเห็นคุณของความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงกับความนิ่งนั้นว่ามันทุกข์ มันสุขต่างกันอย่างไร ถึงที่สุดก็จะได้รู้จักกับการ..ปล่อยวาง..ตามกำลังแห่งสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรของตัวเอง .. ปล่อยวางมากก็สุขมากทุกข์น้อย….ปล่อยวางน้อยก็สุขน้อยทุกข์มาก..ทำเอาเองทั้งนั้นแหล่ะ…เอวัง…”
บางตอนในการแสดงธรรม
โดย ท่านพระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม
ขออนุโมทนาบุญในกุศลจิตกับทุก ๆ ท่าน ด้วยค่ะ…สาธุ…สาธุ…สาธุ
เมื่อบุคคลรู้จักธรรมอันเลิศ เลื่อมใสแล้วโดยความเป็นของเลิศ
อัคเค พุทเธ ปะสันนานัง
เลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ
ทักขิเณยเย อะนุตตะเร
ซึ่งเป็นทักษิไณยบุคคลอันเยี่ยมยอด
อัคเค ธัมเม ปะสันนานัง
เลื่อมใสแล้วในพระธรรมอันเลิศ
วิราคูปะสะเม สุเข
ซึ่งเป็นธรรมปราศจากราคะแลสงบรำงับเป็นสุข
อัคเค สังเฆ ปะสันนานัง เลื่อมใสแล้วในพระสงฆ์ผู้เลิศ
ปุญญักเขตเต อะนุตตะเร ซึ่งเป็นบุญเขตอย่างยอด
อัคคัสมิง ทานัง ทะทะตัง ถวายทานในท่านผู้เลิศนั้น
อัคคัง ปุญญัง ปะวัฑฒะติ บุญที่เลิศก็ย่อมเจริญ
อัคคัง อายุ จะ วัณโณ จะ อายุ วรรณะ ที่เลิศ
ยะโส กิตติ สุขัง พะลัง แลยศเกียรติคุณ สุขะ พละ ที่เลิศย่อมเจริญ
อัคคัสสะ ทาตา เมธาวี อัคคะธัมมะสะมาหิโต ผู้มีปัญญาตั้งมั่นในธรรมอันเลิศแล้ว, ให้ทานแก่ท่านผู้เป็นบุญเขตอันเลิศ
เทวะภูโต มะนุสโส วา จะไปเกิดเป็นเทพดาหรือไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ตาม
อัคคัปปัตโต ปะโมทะตีติ ย่อมถึงความเป็นผู้เลิศบันเทิงอยู่ ดังนี้แล.
ขออนุโมทนาบุญในกุศลจิตกับทุก ๆ ท่าน ด้วยค่ะ…
ขอให้ท่านเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ สาธุ…สาธุ…สาธุ